wat-phra maha chedi chai mongkol

วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดผาน้ำย้อย เป็นวัดที่เป็นที่รู้จักกันดีเพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่องค์หนึ่งที่มีความสวยงามในเรื่องของลวดลายไทยและความวิจิตรศิลป์พิศดารของทางวัด ซึ่งวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ บ้านโคกกลาง ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด โดยมีระยะทางอยู่ห่างจากตัวเมืองร้อยเอ็ด ประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งพระมหาเจดีย์ชัยมงคลนั้นมีพื้นที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ ถูกก่อสร้างโดย พระเทพวิสุทธิมงคล หรือ(หลวงปู่ศรีมหาวีโร) เมื่อปี พ.ศ. 2528 เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบําเพ็ญกุศลต่างๆ

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

ภายในบริเวณของพระมหาเจดีย์ชัยมงคลนั้นมีเนื้อที่ 101 ไร่ ถูกออกแบบโดยกรมศิลปากร โดยการนำศิลปะระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนมมาผสมผสานได้อย่างลงตัว เป็นการใช้ศิลปกรรมที่ร่วมสมัยของทั้งสองภาค ได้แก่ศิลปกรรมของทางภาคกลางและศิลปกรรมของทางภาคอีสานนั้นเอง โดยพระมหาเจดีย์ชัยมงคลนั้นเป็นสีขาวทั้งองค์และมีสีทองตัดจนเป็นลวดลายที่ดูสวยงามเข้ากันมากโดดเด่นเห็นได้ในระยะไกลๆ ซึ่งพระมหาเจดีย์ชัยมงคลนั้นถูกรายล้อมด้วยองค์พระเจดีย์องค์เล็กอีก 8 องค์ ทั้งแปดทิศ ภายในพื้นที่ 101 ไร่นี้ใช้สร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ที่มีความกว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร สูง101เมตร แบ่งเป็น 6 ชั้นดังนี้

ชั้นที่1 เป็นชั้นอเนกประสงค์ เป็นห้องโถงที่มีขนาดใหญ่ มีรูปหล่อของหลวงปู่ศรี มหาวีโร สวยเด่นเป็นสง่าใช้เป็นในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา

ชั้นที่2 เป็นชั้นสำหรับประชุมสงฆ์เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ที่มีผนังติดตั้งรูปพุทธประวัติมีลวดลายสุดพิสดาร ฝาผนังโดยรอบมีรูปภาพของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ขนาดใหญ่ซึ่งรูปภาพในแสดงอิริยาบถต่างๆ ของท่าน

ชั้นที่3 เป็นชั้นอุโบสถและเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราชหน้าตักกว้าง 101 นิ้ว เป็นประธาน โดยรอบอุโบสถมีรูปหล่อเหมือนเกจิชื่อดังพระอาจารย์สายอีสานทั้งหมด 101 รูป

ชั้นที่4 เป็นชั้นชมวิว โดยด้านนอกจะมีจุดชมวิวทิวทัศน์ภูเขาเขียวล้อมรอบบรรยากาศดี ส่วนด้านในมีผนังที่มีภาพเขียนบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพระมหาเจดีย์

ชั้นที่5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์สถาน เป็นห้องโถงรูประฆังแปดเหลี่ยมโดยบรรจุอัฐิของเกจิชื่อดังสายอีสาน

ชั้นที่6 เป็นชั้นที่สูงที่สุดและเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าอยู่เหนือบันไดเวียนเก้าขั้น พระมหาเจดีย์ชัยมงคลจึงเป็นสถานที่เชื่อมโยงระหว่างชาวพุทธกับพระพุทธ เป็นสถานที่ที่ทำให้ชาวพุทธเลื่อมใสศรัทธาและได้มาทำบุญและปฏิบัติธรรมอีกทั้งยังได้มาชมวิวทิวทัศน์ที่เป็นธรรมชาติและได้รับบรรยากาศที่บริสุทธิ์ ได้ตื่นตากับความสวยของพระมหาเจดีย์ชัยมงคลและความงดงานของลวดลายไทยที่ดูแปลกตาน่าเก็บรักษาและหวงแหนไว้แด่คนรุ่นหลังยิ่งนัก

 

wat-pha-nam-yoi

the-front-of-the-maha-chedi-chai

phra-maha-chedi-chai

in-front-of-the-pagoda

fine-arts

fine-arts-crazy

inside-the-pagoda

wat-pha-nam-thip

wat-pha-nam-thip-thepprasit-wanaram

external-maha-chedi-chai